เทศบาลตำบลป่างิ้ว

 

คำแถลงนโยบาย

ของ

นางเพ็ญนภา   ตาลน้อย

นายกเทศมนตรีตำบลป่างิ้ว

แถลงต่อสภาเทศบาลตำบลป่างิ้ว

วันอังคาร ที่  18 พฤษภาคม  พ.ศ. 2564

ณ  ห้องประชุมสภาเทศบาลตำบลป่างิ้ว

เรียน  ประธานสภาเทศบาลตำบลป่างิ้ว

ตามที่   ได้มีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลป่างิ้ว   เมื่อวันที่  28  มีนาคม  2564  ข้าพเจ้า            นางเพ็ญนภา   ตาลน้อย ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในเขตเทศบาลตำบลป่างิ้ว เลือกตั้งให้เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลป่างิ้ว  และบัดนี้คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศผลการเลือกตั้ง  ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2564  นั้น

เพื่อให้การบริหารงานของเทศบาลตำบลป่างิ้วเป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา 48 ทศ      แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496  และแก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่14)  พ.ศ. 2462  ความว่า

“ก่อนนายกเทศมนตรีเข้ารับหน้าที่  ให้ประธานสภาเทศบาลเรียกประชุมสภาเทศบาล  เพื่อให้นายกเทศมนตรีแถลงนโยบายต่อสภาเทศบาล  โดยไม่มีการลงมติ  ทั้งนี้ภายในสามสิบวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี”

บัดนี้   ข้าพเจ้าในฐานะนายกเทศมนตรีตำบลป่างิ้ว    ได้กำหนดนโยบายการบริหารเทศบาล

ตำบลป่างิ้ว  โดยยึดหลักการตามระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม  และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ       แห่งราชอาณาจักรไทย  ซึ่งถือเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ  รวมถึงกรอบอำนาจหน้าที่        ของเทศบาลตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเทศบาล  และพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการ

กระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552  ตลอดจนกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง  โดยมี

เจตนารมณ์ที่จะพัฒนาเทศบาลตำบลป่างิ้ว ให้เป็นตำบลน่าอยู่ ผู้คนมีความสุข มีความเจริญในทุก ๆ ด้าน    โดยใช้นโยบายพัฒนาคน และพัฒนาตำบลควบคู่กันไป  รวมทั้งมีการบริหารจัดการและการบริการที่ดี        เพื่อมุ่งไปสู่วิสัยทัศน์ “ป่างิ้วตำบลแห่งการพัฒนา  ประชาชนอยู่ดีมีสุข” ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนในเขตเทศบาลตำบลป่างิ้วทุกคน

ซึ่งนโยบายและแนวทางในการพัฒนาตำบลป่างิ้ว ที่จะได้แถลงต่อสภาเทศบาลตำบลป่างิ้วแห่งนี้  ในแต่ละด้านมีความสอดคล้อง และนำมาจากนโยบายที่ได้ประกาศไว้ในการหาเสียงเลือกตั้ง           ครั้งที่ผ่านมา โดยข้าพเจ้าจะยึดถือแนวทางในการพัฒนา และมีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติให้ได้จริงตามที่ได้กล่าวไว้  บัดนี้ ข้าพเจ้าและคณะผู้บริหารทุกท่าน พร้อมที่จะนำเสนอนโยบายต่อสภาเทศบาลตำบลป่างิ้ว    โดยผ่านทางท่านประธานสภาเทศบาล  ไปยังสมาชิกสภาเทศบาล และผู้นำชุมชน พี่น้องชาวตำบลป่างิ้วทุกท่าน ได้รับทราบและใช้เป็นแนวทางในการติดตามตรวจสอบการทำงานของข้าพเจ้าในโอกาสต่อไป

ดังนั้น เพื่อให้การบริหารงานของเทศบาลตำบลป่างิ้ว  เป็นไปตามเจตนารมณ์สามารถบรรลุภารกิจและเป้าหมาย  จึงได้กำหนดนโยบายการบริหารงานของเทศบาลตำบลป่างิ้วไว้ดังนี้

1. นโยบายด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

1.1 ก่อสร้างปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม  เช่น ถนนสายหลัก ถนนสายรอง และถนนสายการเกษตรในตำบลป่างิ้วให้มีสภาพดี ประชาชนได้รับความสะดวกและปลอดภัยในการใช้เส้นทางสัญจร

1.2 ก่อสร้างปรับปรุงอาคารสำนักงาน ห้องประชุม  อาคารเอนกประสงค์ เพื่อให้การบริการ          แก่ประชาชนได้รับความสะดวกในการใช้บริการและเพื่อเป็นสาธารณะประโยชน์

1.3 ก่อสร้างสะพาน – ท่อลอดเหลี่ยมทดแทนสะพานเดิม  ทดแทนท่อระบายน้ำเดิม  เพื่อขยายผิวจราจรให้กว้างขึ้น และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำให้ดียิ่งขึ้น

1.4 ก่อสร้างปรับปรุงรางระบายน้ำ ระบบระบายน้ำเพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพไม่มีปัญหาน้ำท่วมขัง

1.5 ปรับปรุงพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่ออุปโภค บริโภค พัฒนาแหล่งน้ำและระบบลำน้ำ ลำห้วย   ลำเหมืองเพื่อการเกษตรให้มีแหล่งกักเก็บและสำรองน้ำไว้ใช้ได้อย่างทั่วถึง และเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน

1.6 ขุดลอกคูคลอง  อ่างเก็บน้ำแม่ฉางข้าว  อ่างเก็บน้ำสันป่าสัก   แม่น้ำสายหลัก  ลำน้ำสายรองในตำบล เพื่อเก็บกักน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรและเพื่อระบายน้ำไหลหลากป้องกันน้ำท่วมขังบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรของประชาชน

1.7 วางแผนบริหารจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรอย่างเป็นระบบ  โดยระดมความคิดเห็นและประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง  เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาป้องกันและเตรียมความพร้อมในการรับสถานการณ์ภัยแล้ง และปัญหาน้ำท่วม  โดยให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการวางแผน เพื่อให้ประชาชนมีความพร้อมในการรับมือกับปัญหาและภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้   และเพื่อให้เทศบาลสามารถให้การช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที 

1.8 ดูแลการบริหารจัดการระบบเหมือง  ฝาย และระบบกระจายน้ำ ให้ทั่วถึงเพื่อให้

เกษตรกรมีน้ำเพียงพอสำหรับทำการเกษตรตลอดฤดูกาล

1.9 จัดให้มีการดูแลไฟฟ้าส่องสว่างตามถนนสายหลัก ถนนสายรอง และถนนในพื้นที่จุดเสี่ยงให้มีแสงสว่างอย่างทั่วถึงเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและอาชญากรรม   

1.10 ส่งเสริมการขยายเขตไฟฟ้าเพื่อการเกษตรให้ทั่วถึง  และครอบคลุมทั้งตำบล

1.11 ปรับปรุงและตกแต่งภูมิทัศน์บริเวณข้างทาง   และสวนสาธารณะเพื่อเกิดความสวยงามและเป็นระเบียบเรียบร้อย  ปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณหน้าสถานที่ราชการ และส่งเสริมประชาชนปรับปรุง     หน้าบ้านเรือนของตนเองฯลฯ  เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาบ้านน่าอยู่¬ ชุมชนน่ามอง

2. นโยบายด้านการส่งเสริมอาชีพและการสร้างเศรษฐกิจ

2.1 ส่งเสริมสนับสนุนการฝึกอาชีพ การสร้างอาชีพและพัฒนาความสามารถในการประกอบอาชีพของประชาชน

2.2 ส่งเสริมให้ชุมชนกลุ่มอาชีพมีผลิตภัณฑ์เด่นของชุมชน  สามารถสร้างรายได้ในครัวเรือนและสร้างชื่อเสียงให้ท้องถิ่นได้

2.3 จัดให้มีศูนย์รวมในการจำหน่ายสินค้าชุมชน และจัดหาแหล่งขายช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า  เช่น จัดทำโครงการตลาดนัดต่าง ๆ เพื่อชุมชน

2.4 ส่งเสริมการรวมกลุ่มอาชีพ และพัฒนาต่อยอดการรวมกลุ่มอาชีพ  ให้มีความต่อเนื่องและเกิดความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม  กล่าวคือ สมาชิกกลุ่มต้องมีงานมีรายได้จากการผลิตและจัดหาตลาดรองรับสินค้าและบริการ  ส่งเสริมการฝึกอาชีพที่มุ่งเน้นอาชีพที่จะทำให้ผู้เข้ารับการอบรม  สามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพ  และมีรายได้ลดรายจ่าย สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้

2.5 ส่งเสริมการนำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต  ส่งเสริม  ให้ประชาชนรักการออม  ปลูกจิตสำนึกของความประหยัดและพอเพียงให้แก่ประชาชน  สนับสนุนการดำเนินงานของกลุ่มออมทรัพย์ กองทุนต่าง ๆ ในตำบลให้มีความมั่นคงแข็งแรง

3. นโยบายด้านพัฒนาสังคมและส่งเสริมคุณภาพชีวิต

3.1 จัดให้มีสวัสดิการต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุ  ส่งเสริมชมรมผู้สูงอายุให้เข้มแข็ง เพื่อเป็นศูนย์กลางสำหรับการทำกิจกรรมของผู้สูงอายุ  การนำประสบการณ์และภูมิปัญญาของผู้สูงอายุมาช่วยในการพัฒนาสังคมชุมชน

3.2  ส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมโรงเรียนผู้สูงอายุตำบลป่างิ้วเพื่อให้ผู้สูงอายุได้จัดกิจกรรมร่วมกัน ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้มีสุขภาพที่ดีทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

3.3 พัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ  ผู้ยากไร้  ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง      ให้ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม จัดให้มีสวัสดิการและให้ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ด้อยโอกาสสามารถพึ่งตนเองได้

3.4  จัดให้มีกิจกรรมในการพัฒนาและเป็นประโยชน์ให้กับ  สตรี  เด็ก  เยาวชน  ผู้สูงอายุ และ         ประชาชนทั่วไป

3.5  เสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวและชุมชน  ส่งเสริมกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว  ส่งเสริมความเข้มแข็งและความสามัคคีของชุมชน โดยสนับสนุนการรวมกลุ่ม  และ    การดำเนินกิจกรรมของกลุ่มภาคประชาชน ได้แก่ คณะกรรมการหมู่บ้าน กลุ่มพัฒนาสตรี กลุ่มผู้สูงอายุ      กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข กลุ่มอาชีพต่าง ๆ ให้มีความเข้มแข็งและเชื่อมโยงกิจกรรมการทำงานเป็นเครือข่าย

3.6  จัดให้มีป้ายจราจร   ป้ายเตือนภัย  ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่จุดเสี่ยง   เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและอาชญากรรม

3.7  จัดให้มีรถฉุกเฉินให้บริการรับส่งผู้ประสบภัยและผู้ป่วยตลอด  24  ชั่วโมง  เพื่อให้ประชาชน

ได้รับการบริการที่สะดวกสบาย สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยและผู้ประสบภัยให้ถึงสถานพยาบาล และได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

3.8  จัดให้มีศูนย์กีฬา  สวนสุขภาพ  สถานที่ออกกำลังกาย  สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ  และสถานที่ทำกิจกรรมรวมของครอบครัวที่เหมาะสมสำหรับทุกเพศทุกวัย

3.9  จัดให้มีศูนย์ให้ความช่วยเหลือประชาชนในตำบล เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติหรือโรคระบาด เพื่อดูแลและให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็ว

4. นโยบายด้านการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม

4.1 พัฒนาระบบรักษาความสะอาดและการจัดเก็บขยะมูลฝอย โดยปรับปรุงวิธีการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ สร้างมูลค่าในการนำขยะมาใช้ให้เกิดประโยชน์ สร้างแรงจูงใจและความตระหนัก     ในหน้าที่ของประชาชนในการมีส่วนร่วม  ในการดูแลรักษาความสะอาดบ้านและชุมชน  การชำระค่าธรรมเนียมการจัดเก็บค่าขยะ  รวมถึงการปรับปรุงงานสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมในชุมชน

4.2  ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน  (โซล่าเซลล์)  เพื่อลดการใช้กระแสไฟฟ้าในอาคาร 

สำนักงาน และส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในภาคการเกษตร  เพื่อประหยัดงบประมาณ และลดมลพิษในอากาศ รักษาสิ่งแวดล้อม

4.3  จัดระบบการรักษาความสะอาดของถนนทุกสายในเขตเทศบาล  ความสะอาดในแม่น้ำ              

ลำคลอง ลำห้วย ลำเหมืองสาธารณะต่าง ๆ

4.4  ฟื้นฟูและรักษาแหล่งน้ำสาธารณะ แม่น้ำ ลำคลองให้สะอาดสามารถใช้ประโยชน์ได้

4.5 ส่งเสริมสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมการสร้างฝายชะลอน้ำ  การส่งเสริมกิจกรรมการปลูกป่าต้นน้ำเพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้แก่ผืนป่า

4.6 เพิ่มพื้นที่สีเขียวในชุมชน  โดยการรณรงค์ส่งเสริมการปลูกและการดูรักษาต้นไม้   ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ปลุกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สร้างและปรับพื้นที่ว่างหรือพื้นที่สาธารณะให้เป็นพื้นที่สีเขียว ที่เหมาะสมสำหรับการออกกำลังกายและทำกิจกรรมร่วมกันของประชาชนในตำบล

4.7  พัฒนาระบบการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม    โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วยตนเองมากขึ้น  มีการใช้มาตรการแรงจูงใจและมาตรการบังคับด้วยกฎหมาย  ด้วยการกำหนดเทศบัญญัติและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อควบคุมกิจกรรม หรือการดำเนินกิจการที่อาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมจัดตั้งเครือข่ายในการบริหารจัดการ

4.8  จัดให้มีการบริการด้านสาธารณสุขอย่างทั่วถึง และยกระดับการพัฒนาด้านสาธารณสุขให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนให้มากยิ่งขึ้น

4.9  จัดให้มีการให้ความรู้เรื่องการปรับปรุงคุณภาพความสะอาด  ความปลอดภัยของอาหารและการยกระดับในเรื่องคุณภาพมาตรฐานของร้านค้าแก่ผู้ประกอบการต่าง ๆ

         4.10 เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านงานป้องกันและระงับโรคติดต่อ ให้เกิดการบริการ  ที่รวดเร็วปลอดภัยและครอบคลุมทั่วพื้นที่

4.11 พัฒนาระบบการให้บริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานให้มีความพร้อม และมีความหลากหลายของการให้บริการมากขึ้น  ได้แก่ การเสริมสร้างสุขภาพและสุขภาวะที่ดี    การเฝ้าระวังและ      การป้องกันโรค  มุ่งเน้นการเสริมสร้างสุขภาพของประชาชนโดยใช้การจัดการองค์ความรู้  ซึ่งมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเป็นแกนหลักสำคัญในการขับเคลื่อน   การเก็บข้อมูลตามข้อเท็จจริงและเป็นปัจจุบันเพื่อนำข้อมูลมาใช้เป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์วางแผนและดำเนินการ  ทั้งนี้ เป้าหมายที่สำคัญก็คือต้องการ  ให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ และมีทักษะในการดูแลสุขภาพของตนเองมากขึ้น  ให้มีความสมบูรณ์แข็งแรงเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ

4.12 สนับสนุนและเพิ่มศักยภาพการทำงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน โดยการพัฒนาองค์ความรู้ สร้างแรงจูงใจสนับสนุนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง  ส่งเสริมให้มีการพัฒนาความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในการดูแลรักษาสุขภาพเพิ่มขึ้น  สนับสนุนการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติโดยคำนึงถึงผลประโยชนที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ

4.13  สร้างหลักประกันสุขภาพให้แก่บุคคลในพื้นที่  ภายใต้พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 47 เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคและการฟื้นฟูสมรรถภาพ และการรักษาพยาบาลระดับปฐมภูมิเชิงรุกในพื้นที่ โดยสนับสนุนให้องค์กรหรือประชาชน ร่วมดำเนินกิจกรรมการจัดบริการสาธารณในท้องถิ่น สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

5. นโยบายด้านการศึกษากีฬาและนันทนาการ

5.1  ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชน ส่งเสริมให้มีการจัดการศึกษาอบรมเพื่อเสริมสร้างความรู้ความสามารถทักษะในด้านต่าง ๆ

5.2  สนับสนุนและส่งเสริมการจัดการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ  และการศึกษา 

ตามอัธยาศัยกับสถานศึกษาและศูนย์การศึกษานอกระบบ โดยการสนับสนุนงบประมาณตามอำนาจหน้าที่ส่งเสริมความร่วมมือในการจัดกิจกรรม การประสานงาน การให้ความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิชาการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในเขตเทศบาลตำบลป่างิ้ว

5.3  บริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของเทศบาลตำบลป่างิ้ว ให้มีการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ

และมีประสิทธิภาพ  ทั้งในด้านบุคลากร  ความพร้อมของสถานที่ อุปกรณ์  การเรียนการสอนฯลฯสามารถพัฒนาเด็กให้มีศักยภาพสูงสุดตามวัย

5.4  สนับสนุนการจัดการศึกษาแบบบูรณาการ เชื่อมโยงระหว่างบ้าน ชุมชน โรงเรียน และ

เทศบาล กำหนดหลักสูตรแบบท้องถิ่นมีส่วนร่วม เสริมสร้างแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง การดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อม บทบาทและการมีส่วนร่วมในชุมชน ทั้งนี้ มุ่งเน้นให้เด็กเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้  เพื่อเตรียมความพร้อมทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาในการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น

5.5 จัดตั้งให้มีโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลป่างิ้ว พร้อมทั้งจัดให้มีอาคารเรียนที่ทันสมัย  เพื่อรองรับการจัดการศึกษาที่ได้คุณภาพมาตรฐาน

5.6  ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) โดยการสนับสนุนให้มีการสอนภาษาต่างประเทศและการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเหมาะสมกับการเรียนรู้ในแต่ละช่วงวัย

5.7 ส่งเสริมสนับสนุนการเล่นกีฬาของประชาชน  เยาวชน เพื่อส่งเสริมสุขภาพเสริมสร้างความสามัคคีการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์  เช่น สนับสนุนการจัดสร้างสนามกีฬาลานกีฬา  การสนับสนุนอุปกรณ์กีฬา  การจัดการแข่งขันกีฬา  การฝึกอบรมการเล่นกีฬา  รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้มีการรวมตัวกันเป็นชมรมกีฬาต่าง ๆ

5.8  จัดให้มีกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ ที่ช่วยสร้างสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดี ให้แก่ประชาชนโดยจัดให้มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ  สถานที่ออกกำลังกายต่าง ๆ เช่น ลานกิจกรรมกลางแจ้ง

5.9  ส่งเสริมและสนับสนุนทุนการศึกษา อุปกรณ์การศึกษา ให้แก่นักเรียนเรียนดีแต่ยากจน         ให้มีโอกาสได้เข้าถึงการศึกษาในทุกระดับชั้น

6. นโยบายด้านการป้องกันและรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

6.1 จัดสร้างศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และจัดให้มีเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัย   ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้เพียงพอ  พัฒนาประสิทธิภาพบุคลากรของงานป้องกันฯ ให้มีความรู้ความสามารถและพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ตลอดเวลา

6.2  จัดให้มีศูนย์แจ้งเหตุสาธารณภัยและช่วยเหลือแก่ประชาชนตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อ    สอดรับกับโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งทีมกู้ชีพกู้ภัย (OTOS) โครงการระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินของหน่วยงานท้องถิ่น (EMS) 

6.3  ปรับปรุงระบบไฟฟ้าสาธารณะให้สว่างปลอดภัย ติดตั้งสัญญาณเตือนภัยในจุดเสี่ยงภัย

ติดตั้งถังดับเพลิงให้ครอบคลุมในจุดเสี่ยงภัย และให้ความรู้ในเรื่องสาธารณภัยแก่ประชาชน

6.4 เพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.)     โดยการประสานงานกับฝ่ายปกครอง  ตำรวจ  อาสาสมัครตำรวจบ้าน โดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการฝึกอบรม  เพื่อพัฒนาทักษะความสามารถสร้างขวัญกำลังใจและดูแลสวัสดิการอย่างทั่วถึง เพื่อให้คนในชุมชนได้รับและมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน  เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้เกิดปัญหาสังคมอาชญากรรมและยาเสพติด

6.5 จัดทำโครงการเมืองปลอดภัยด้วยการติดตั้งกล้อง CCTV ครอบคลุมพื้นที่ทุกจุดที่มี   ความเสี่ยง เช่น ถนนตามแยกต่าง ๆ ถนนสายหลัก และบริเวณหน้าสำนักงานเทศบาล พร้อมห้องควบคุมและปฏิบัติการเพื่อเป็นแนวทางในการสืบสวนติดตามผู้กระทำผิดต่อไป

6.6  จัดให้มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาให้บริการประชาชน โดยจะดำเนินการติดตั้งระบบ

สัญญาณ (Wi-Fi)  อินเตอร์เน็ตไร้สาย ให้ประชาชนใช้บริการฟรีเพื่อเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ ให้คลอบคลุม

ทั้งตำบล

6.7  ประสานความร่วมมือกับกรมทางหลวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เพื่อหาแนวทาง     การแก้ไขและลดอุบัติเหตุการใช้รถใช้ถนนบนทางหลวงหมายเลข ๑๑๘ เพื่อให้ประชาชนมีความสะดวก          และปลอดภัยในการใช้เส้นทาง

7. นโยบายด้านการบริการประชาชน

7.1  ให้บริการประชาชนด้วยความสะดวกรวดเร็วถูกต้องเป็นธรรม และประชาชนมีความ   พึงพอใจในการบริการของเทศบาล

7.2  จัดตั้งและพัฒนาศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ร้องเรียนให้เป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหา      ได้อย่างแท้จริงเป็นที่พึ่งของประชาชนได้

7.3 พัฒนางานด้านประชาสัมพันธ์ให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ชัดเจน และครอบคลุมทั่วถึงโดยให้มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของเทศบาลและข่าวสารที่เป็นประโยชน์   ให้ประชาชนรับทราบ           ตามเสียงตามสาย  การประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ วารสารสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ รวมถึงช่องทางอื่น ๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์  เว็บไซต์  สื่ออีเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ฯลฯ

8. นโยบายด้านการเมืองการบริหารและการมีส่วนร่วมของประชาชน

8.1  ให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการคิดวางแผนพัฒนาเทศบาลตำบลป่างิ้วร่วมกันโดยผ่านขบวนการเวทีประชาคม  เพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเทศบาลของประชาชนอย่างสม่ำเสมอ

8.2  ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน สนับสนุนให้ชุมชนมีบทบาทในการสร้างประโยชน์      ในชุมชน

8.3  ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกิจการงานของเทศบาล รวมถึงความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเมือง การปกครองในระบอบประชาธิปไตย

8.4 พัฒนาประสิทธิภาพของบุคลากรเทศบาลให้มีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีในเรื่องการบริการประชาชน  ในการอุทิศตนให้กับราชการในการรักองค์กรและ      ในเรื่องความสามัคคี

8.5   มุ่งเน้น  และให้ความสำคัญต่อกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมากยิ่งขึ้น

โดยจะเปิดโอกาสให้ประชาชน  กลุ่มพลังมวลชน องค์กร ภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ มีส่วนร่วม     ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชน พัฒนาเทศบาลตำบลป่างิ้วให้เป็นเทศบาลที่มีการบริหารจัดการตามหลักธรรมภิบาล (Good Governance) โดยการนำหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคม      ที่ดี 10 ประการ  ได้แก่  หลักประสิทธิผล  หลักประสิทธิภาพ  หลักการตอบสนอง  หลักภาระรับผิดชอบ  หลักความโปร่งใส  หลักการมีส่วนร่วม  หลักการกระจายอำนาจ  หลักนิติธรรม  หลักความเสมอภาค  และหลักมุ่งเน้นฉันทามติ   มาประยุกต์ใช้แนวทางการปฏิบัติภายในหน่วยงาน

8.6 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่วมคิด ร่วมวางแผน และร่วมตัดสินใจส่งเสริมให้เข้าร่วมเป็นตัวแทนภาคประชาชน ในการเป็นคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่ทั้งในการร่วมบริหารจัดการและร่วมติดตามตรวจสอบการทำงานของเทศบาล

8.7 จัดให้มีการบริหารงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ  โปร่งใส และตรวจสอบได้  โดย    จะให้ความสำคัญต่อการรับฟังปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชน   จัดสรรงบประมาณอย่างเป็นธรรมและทั่วถึงทุกชุมชน  โดยการจัดลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนของปัญหาสอดคล้องกับความต้องการและสภาพความเป็นจริงของแต่ละพื้นที่

8.8   ส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน 

กรรมการหมู่บ้าน อสม. และกลุ่มองค์กรต่างๆ และมุ่งเน้นการทำงานแบบบูรณาการ

9. นโยบายด้านการท่องเที่ยวการส่งเสริมวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น

9.1  บำรุงรักษาฟื้นฟูศิลปะประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่น  และใช้การจัดงานประเพณี

วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการสร้างความสามัคคีและการมีส่วนร่วมของประชาชน  ในการรักษาไว้ซึ่งมรดก  ทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น

9.2 ส่งเสริมกิจกรรมทางศาสนาทุกศาสนา เพื่อให้ศาสนสถานแต่ละแห่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน  เป็นแหล่งสืบทอดสืบสานวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ โดยจะสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรม           ในวันสำคัญต่าง ๆ ทางศาสนา

9.3  ส่งเสริมและปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น  และปรับใช้

ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยให้ทุกภาคส่วนในชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและจัดกิจกรรมร่วมเพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีสู่ลูกหลาน

9.4  ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยว   เพื่อให้ตำบลป่างิ้วเป็นที่รู้จักอย่าง       

กว้างขวาง  ประสานงานและเชื่อมโยงเครือข่ายในการส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งจากภาครัฐและเอกชน และ

กลุ่มภาคีเครือข่ายต่าง ๆ โดยมุ่งหวังที่จะให้การพัฒนาตำบลป่างิ้วเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรม

9.5  พัฒนาอ่างเก็บน้ำแม่ฉางข้าว  และดอยผาโง้มให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในตำบล         เพื่อให้ประชาชนได้ใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และการศึกษาเส้นทางธรรมชาติ 

9.6  ส่งเสริมการสร้างรายได้จากการจัดการท่องเที่ยว โดยบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน

ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐ หรือเอกชน เพื่อให้มีการพัฒนาการจัดการท่องเที่ยวของเทศบาลให้เป็นไปอย่างถูกต้อง สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับท้องถิ่นและสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนเป็นสำคัญ

          นโยบายการบริหารราชการเทศบาลตำบลป่างิ้วตามที่ข้าพเจ้าได้แถลงมาทั้งหมด 9  ด้าน  นั้นข้าพเจ้าและทีมบริหารทุกท่านได้วางแนวทางการพัฒนาบนพื้นฐานสภาพความเป็นจริงของปัญหา           ความเดือดร้อน ความต้องการของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก  โดยวิเคราะห์ถึงปัจจัยภายในและภายนอกเทศบาล  เพื่อให้ทราบถึงจุดอ่อน จุดแข็ง วิกฤต และโอกาสของเทศบาลตำบลป่างิ้ว ที่สามารถจะแก้ไขและพัฒนาให้เกิดความเจริญมากยิ่งขึ้นจากปัจจุบัน

ข้าพเจ้าขอให้คำมั่นว่าจะเร่งดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวให้เกิดผลสำเร็จ  โดยจัดทำแผนพัฒนาเทศบาลให้สอดคล้องกับปัญหาความต้องการของประชาชน  จัดทำเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่าในการดำเนินการ  และเกิดผลสัมฤทธิ์ของงานที่ชัดเจน  บริหาร     งานด้วยความซื่อสัตย์  สุจริต และเป็นธรรม จะให้ความสำคัญกับบทบาทการมีส่วนร่วมของประชาชนเสริมสร้างความรัก ความสามัคคีให้เกิดกับชุมชน เสริมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อให้เทศบาลตำบลป่างิ้วเป็นเทศบาลที่น่าอยู่ อย่างยั่งยืน สมดังวิสัยทัศน์ การพัฒนาที่ได้กล่าวไว้  ทั้งนี้ จะยึดถือประโยชน์สุขของประชาชนเป็นเป้าหมายสูงสุดของการบริหารราชการเพื่อพัฒนาเทศบาลตำบลป่างิ้ว

ท่านประธานสภาเทศบาลและสมาชิกสภาเทศบาลที่เคารพทุกท่าน  การบริหารงาน        ตามนโยบายที่ข้าพเจ้าได้แถลงมาดังกล่าว  จะสำเร็จไม่ได้หากไม่ได้ความร่วมมือ ร่วมใจ จากพี่น้องประชาชนชาวตำบลป่างิ้ว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากท่านสมาชิกสภาเทศบาลตำบลป่างิ้วทุกท่าน  พนักงาน  เจ้าหน้าที่ทุกท่าน    ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือ ร่วมใจ และการสนับสนุนจากท่าน  ในการที่จะพัฒนาตำบลป่างิ้วตามนโยบายที่ได้แถลงต่อสภาเทศบาลตำบลป่างิ้ว  เพื่อตอบสนองความต้องการและประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชน และพัฒนาตำบลป่างิ้วให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป

 

      นางเพ็ญนภา  ตาลน้อย

        นายกเทศมนตรีตำบลป่างิ้ว

     18  พฤษภาคม  2564

 

 

ภาคผนวก

 

การแต่งตั้งทีมคณะผู้บริหาร

   เพื่อให้การบริหารราชการของเทศบาลตำบลป่างิ้ว  เกิดความคล่องตัว  มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง และเป็นไปตามนโยบาย       ที่นายกเทศมนตรีตำบลป่างิ้วได้กำหนดไว้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและตอบสนองความต้องการ             ของประชาชนในท้องถิ่น  อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 48  อัฏฐ และมาตรา 48 เตรส                      แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496  แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 14)  พ.ศ.2562   นายกเทศมนตรีอาจแต่งตั้งรองนายกเทศมนตรี  ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี และเลขานุการนายกเทศมนตรี ดังต่อไปนี้

1. นายโสภณ  วงค์รักษาศิลป์ เป็นรองนายกเทศมนตรี  คนที่ 1

2. นายภูเบศร์  คำโล เป็นรองนายกเทศมนตรี  คนที่ 2

3. นายบุญทา  จันทร์ขอด เป็นที่ปรึกษานายกเทศมนตรี

4. นายคำรณ  คำก่ำ เป็นเลขานุการนายกเทศมนตรี

ข้าพเจ้าได้พิจารณาแล้วเห็นว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และมีคุณสมบัติ 

ที่เหมาะสม อันจะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ บริหารงานของเทศบาลตำบลป่างิ้ว ให้เจริญก้าวหน้าต่อไป  

ซึ่งจะได้ดำเนินการออกหนังสือคำสั่งอย่างเป็นทางการในโอกาสต่อไป    และขอขอบพระคุณท่านประธานสภา

เทศบาลตำบลป่างิ้ว และท่านสมาชิกสภาเทศบาลตำบลป่างิ้วผู้ทรงเกียรติทุกท่านไว้ ณ โอกาสนี้

 

  วิสัยทัศน์

 “ป่างิ้วตำบลแห่งการพัฒนา  ประชาชนอยู่ดีมีสุข”

 

 

 

 

 

 

 


ผู้เยี่ยมชม


  18.97.14.88
ออนไลน์ 42ip
วันนี้ 487ip
เดือนนี้ 4185ip
ปีนี้ 631059ip
ทั้งหมด 859732ip
Counter

หน่วยงานภายในเทศบาล

ติดต่อกับฐานข้อมูล Mysql ไม่ได้